Last updated: 15 พ.ค. 2566 | 616 จำนวนผู้เข้าชม |
องค์กรที่ต้องการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องพัฒนากลยุทธ์การสร้างรายได้จากข้อมูล (Data Monetization) หรือกระบวนการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของข้อมูล ซึ่งมีความสำคัญและกำลังเติบโตในทุกธุรกิจ โดยการประเมินข้อมูลที่มีอยู่และคุณค่าที่ข้อมูลนั้นสามารถสร้างขึ้นใหม่ รวมถึงรูปแบบธุรกิจสมัยใหม่ที่ส่งเสริมโอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างคุณค่าใหม่ๆ ให้กับลูกค้า นำไปสู่เป้าหมายการเติบโตและสร้างแหล่งรายได้ระยะยาวด้วยกลยุทธ์ที่เหมาะสม
3 มุมมองสำคัญสำหรับองค์กรที่ต้องการประสบความสำเร็จจากกลยุทธ์การสร้างรายได้จากข้อมูล
1. CDO มีบทบาทสำคัญในการค้นหาโจทย์ Data Monetization ในทุกระดับของการจัดการทั่วทั้งองค์กร
การวิจัย การตั้งโจทย์ และการวางกลยุทธ์ เพื่อให้มีการใช้ข้อมูลเพื่อสร้างคุณค่าใหม่ๆ และนำไปสู่การสร้างรายได้จากข้อมูลทั่วทั้งองค์กร เป็นความรับผิดชอบที่ต้องการตำแหน่งในระดับผู้บริหาร และทำให้หลายองค์กรที่ต้องการใช้ข้อมูลเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจบนโลกที่คนใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น แต่งตั้ง Chief Data Officer (CDO) หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายข้อมูล เพื่อดูแลและเผยแพร่การใช้ข้อมูลในระดับสูงสุดของการจัดการ
ซึ่งบทบาทหน้าที่รับผิดชอบสำคัญของ CDO คือผลักดันการวิเคราะห์โจทย์ Data Monetization ผ่านการรวบรวม Business Use Case กับหน่วยงานฟังก์ชันต่างๆ ทั่วทั้งองค์กร
โดยการระบุข้อมูลที่ต้องการภายในและภายนอกองค์กร การวัดคุณค่าทางธุรกิจ (เช่น ความเติบโตของฐานลูกค้าใหม่ การเพิ่มเติมประสิทธิผลของผลลัพธ์ต่อหน่วยแรงงาน) และการวัดความซับซ้อนทางเทคนิค (เช่น ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานของข้อมูลด้วยการวิเคราะห์ หรือการใช้ AI ในการทำ Data Analytics) เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์การจัดลำดับความสำคัญของ Collective Business Use Cases ในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณค่าจากสินทรัพย์ข้อมูลขององค์กรอย่างเป็นระบบ
นี่คือตัวอย่างบทบาทหน้าที่สำคัญของ CDO ต่อกลยุทธ์การสร้างรายได้จากข้อมูลและประสบการณ์ของผู้เขียน
องค์กรที่จัดสรรทรัพยากรและอำนาจหน้าที่ที่ให้กับ CDO อย่างเหมาะสมนั้นมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จในการใช้ข้อมูลเพื่อเปลี่ยนแปลงธุรกิจเมื่อเทียบกับองค์กรที่อาศัย Chief Information Officer (CIO) หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสารสนเทศ ในการกำกับดูแลข้อมูล
2. การสร้างคุณค่าใหม่ให้กับลูกค้าในยุคที่ประสบการณ์ลูกค้าขับเคลื่อนด้วยข้อมูล
วิธีการดำเนินธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมากในยุคดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของลูกค้าที่ตอนนี้อยู่ในระบบนิเวศดิจิทัลที่กว้างขึ้น ก่อให้เกิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อสร้างความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับลูกค้าที่มีลักษณะแบบส่วนบุคคล (Personalization)
ดังนั้นองค์กรที่มองลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centricity) ต้องสามารถปรับตัวและปรับปรุงกลยุทธ์ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงนี้และใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่ลูกค้าให้มา
ด้วยแนวทางดังกล่าว บริษัทสามารถใช้ข้อมูลนี้เพื่อเข้าใจลูกค้าของตนได้ดีขึ้น พัฒนาสินค้าและบริการที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าโดยรวม เพื่อให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่นี้ องค์กรควรมีโฟกัสใน 4 ด้านหลัก ดังนี้
คิดเชิงกลยุทธ์ว่าลูกค้าในยุคดิจิทัลไม่ใช่แค่เพียงผู้ซื้อเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ให้ข้อมูลที่มีคุณค่า เพื่อสร้างสินค้าและบริการให้สนับสนุนข้อมูล ซึ่งสามารถนำไปสู่ฟังก์ชันและโมเดลธุรกิจใหม่ๆ
ปรับเปลี่ยนการสื่อสาร การตลาด และแผนธุรกิจ เพื่อนำเสนอผลลัพธ์ที่ลูกค้าคาดหวัง หรือโซลูชันในการพัฒนาข้อเสนอใหม่ที่ขึ้นอยู่กับข้อมูลและคุณค่าที่เพิ่มขึ้นตามที่ผู้บริโภคเชื่อมต่อกับสินค้า
สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ที่สร้างรายได้และกำไร โดยเปลี่ยนแนวจากการตั้งราคาตามห่วงโซ่คุณค่าแบบดั้งเดิม ตัวอย่างเช่น พิจารณาการให้บริการพรีเมียมแบบมีค่าใช้จ่ายสำหรับกลุ่มลูกค้าหลัก หรือค่าสมัครสำหรับกลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้าหลัก ซึ่งให้ผลตอบแทนที่เชื่อมโยงกับการเพิ่มขึ้นของรายได้
ค้นหาคู่ค้าเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในการเสนอบริการใหม่ เชื่อมโยงระบบนิเวศดิจิทัลที่ครอบคลุมทั้งการผลิตและการบริโภคข้อมูล ที่สามารถใช้ส่งเสริมโอกาสในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างคุณค่าใหม่ให้กับลูกค้า โดยต้องระบุหน่วยงานฟังก์ชันหลักและฟังก์ชันสนับสนุนภายในองค์กรที่สร้างและแบ่งปันข้อมูล
3. การวิเคราะห์สินทรัพย์ข้อมูลเชิงกลยุทธ์เพื่อค้นหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจกับพันธมิตร
องค์กรที่วางกลยุทธ์ในการใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ต้องสำรวจแหล่งข้อมูลภายในและภายนอกจากระบบนิเวศดิจิทัลที่องค์กรของตนเชื่อมโยงอยู่ เพื่อทำความเข้าใจลูกค้าแบบรอบด้าน
ข้อมูลเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นสินทรัพย์ที่เปลี่ยนแปลงได้ขององค์กร ซึ่งสามารถนำมาวิเคราะห์สัญญาณของโอกาสและความเสี่ยง การสำรวจข้อมูลอย่างเป็นระบบ เพื่อระบุและจัดประเภทสินทรัพย์ข้อมูลจะทำให้เกิดมุมมองแห่งโอกาส สร้างแผนที่การส่งมอบคุณค่าให้กับองค์กร เพิ่มมูลค่าของข้อมูล และสร้างกลยุทธ์การสร้างรายได้จากข้อมูล
ตัวอย่างเช่น บริษัทประกันภัยที่ขายผลิตภัณฑ์ทางประกันภัยหลากหลายประเภท ทั้งประกันชีวิต สุขภาพ และทรัพย์สิน ต้องการปรับปรุงการสร้างลูกค้าใหม่และการรักษาฐานลูกค้าปัจจุบัน โดยใช้ข้อมูลการชำระเงินสำหรับจำแนกกลุ่มลูกค้าให้ละเอียดมากขึ้น และการเสริมคุณค่าในผลิตภัณฑ์
บริษัทจึงร่วมมือกับบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลที่เชี่ยวชาญในการวิเคราะห์ข้อมูลการชำระเงิน ซึ่งทางบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลให้ข้อมูลการชำระเงินในหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ ประวัติการทำธุรกรรม ความถี่ และจำนวนเงินจากแหล่งต่างๆ เช่น บริษัทบัตรเครดิต ผู้ให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัล และธนาคาร
โดยการใช้ข้อมูลนี้ คู่ค้าได้ช่วยให้บริษัทประกันภัยพัฒนากลยุทธ์การจำแนกกลุ่มลูกค้าได้ละเอียดมากขึ้น โดยระบุกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกันตามรูปแบบการซื้อ โปรไฟล์ความเสี่ยง และความต้องการประกันภัย
สรุปกลยุทธ์ Data Monetization และการนำไปใช้
Data Monetization เป็นกลยุทธ์ที่สำคัญสำหรับองค์กรที่ต้องการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในยุคดิจิทัล อย่างไรก็ตาม เพื่อให้กลยุทธ์นี้ประสบความสำเร็จ ความสนใจและการสนับสนุนของผู้บริหารในการกำหนดเป้าหมาย มุมมองลำดับความสำคัญ และวัฒนธรรมองค์กร จะต้องสอดคล้องกัน องค์กรควรประเมินสถานะปัจจุบันและตัดสินใจว่า วิธีการใดที่เหมาะสมที่สุดในการเลือกใช้ Data Monetization โดยมองหากลยุทธ์ทางธุรกิจผ่านการตัดสินใจตามข้อมูลที่สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน เพื่อสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
22 ต.ค. 2567
4 ต.ค. 2567
3 ต.ค. 2567
31 ต.ค. 2567